ลักษณะของสารเนื้อผสม

มาตรฐาน

สารเนื้อผสม   แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ 

1. สารแขวนลอย  คือ ของเหลวที่มีอนุภาคของของแข็งขนาดเล็กแทรกอยู่  มีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 10-4 เซนติเมตร  ซึ่งเป็นสารเนื้อผสมที่มีขนาดอนุภาคขนาดใหญ่  ทำให้สามารถมองเห็นส่วนผสมได้อย่างชัดเจน  ง่ายต่อการแยกออก เช่น  น้ำแป้ง  น้ำโคลน  เป็นต้น

 2. คอลลอยด์  คือ สารเนื้อผสมที่มีความกลมกลืน  มีขนาดอนุภาคเล็กกว่าสารแขวนลอยแต่ใหญ่กว่าสารละลาย  มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ  10-7 -10-4 เซนติเมตร เช่น   สบู่เหลว  โฟมล้างหน้า  นมสด  เป็นต้น

ลักษณะของสารเนื้อเดียว

มาตรฐาน

สารเนื้อเดียว  แบ่งออกเป็น  2 ประเภท คือ

1. สารบริสุทธิ์  คือ  สารเนื้อเดียวที่มีองค์ประกอบเพียงชนิดเดียวมีสมบัติเหมือนกัน ได้แก่  ธาตุและสารประกอบ  มีสมบัติทางกายภาพและสมบัติทางเคมีคงที่
(1) ธาตุ  หมายถึง  สารบริสุทธิ์เนื้อเดียวที่ประกอบด้วยอะตอมชนิดเดียว ไม่สามารถแยกหรือสลายออกเป็นสารอื่นได้  เช่น  เงิน  ทอง  เหล็ก  คาร์บอน  ออกซิเจน  ไฮโดรเจน  เป็นต้น ธาตุ แบ่งได้  3 กลุ่ม คือ  ธาตุโลหะ  ธาตุอโลหะ  ธาตุกึ่งโลหะ

(2) สารประกอบ หมายถึง  สารบริสุทธิ์เนื้อเดียวที่เกิดจากการรวมตัวกันของธาตุตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป  มีสมบัติเฉพาะตัวและแตกต่างไปจากธาตุเดิม  อัตราส่วนของการรวมกันของธาตุจะคงที่เสมอ

2. สารละลาย  หมายถึง  สารเนื้อเดียวที่เกิดจากสารตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปมาผสมรวมกันโดยอัตราส่วนของการผสมไม่คงที่และสารที่เกิดขึ้นจากการผสมนี้จะแสดงสมบัติที่ต่างไปจากสารเดิม  เช่น  เงินเหรียญ  น้ำเชื่อม  น้ำเกลือ  เป็นต้น

การจำแนกสารตามลักษณะเนื้อสาร

มาตรฐาน

เนื้อสาร หมายถึง สิ่งที่เป็นสมบัติทุกส่วนของสาร  สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า 

การจำแนกสารโดยใช้เนื้อสารเป็นเกณฑ์เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาก  เนื่องจากสามารถแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสารได้มากกว่าวิธีอื่น ๆ โดยตามเกณฑ์นี้จะจำแนกออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ  2  กลุ่ม  คือ
1.   
สารเนื้อเดียว  หมายถึง สารที่มีองค์ประกอบชนิดเดียวหรือหลายชนิดผสมกันอยู่อย่างกลมกลืน  มองเห็นเป็นเนื้อเดียวกันตลอด   อาจมีหลายสถานะที่แสดงสมบัติเหมือนกันทุกประการ  แบ่งออกเป็น  2 ประเภท คือ สารบริสุทธิ์ และสารละลาย

2.    สารเนื้อผสม  หมายถึง สารที่มองเห็นด้วยตาเปล่าไม่เป็นเนื้อเดียวกันตลอดทุกส่วน  สารที่เกิดจากสารตั้งแต่ 2 ชนิดมารวมกัน โดยมีอัตราส่วนที่ไม่แน่นอน อาจเป็นสารที่อยู่ในสถานะเดียวกันหรือต่างสถานะมารวมกัน ได้สารเนื้อผสม เช่น พริกกับเกลือ น้ำกับแป้ง  ฝุ่นละอองในอากาศ  คอนกรีต  ตะกอนในน้ำ  ลอดช่องน้ำกะทิ  เป็นต้น แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ สารแขวนลอยและคอลลอยด์

สมบัติทางเคมีของสาร

มาตรฐาน

สมบัติทางเคมี ( Chemistry Properties )

        เป็นสมบัติของสารที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบภายในของสารที่แสดงออกมาให้เห็นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีหรือการเกิดปฏิกิริยาเคมี   โดยจะมีสารใหม่เกิดขึ้น ซึ่งสารใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีสมบัติแตกต่างไปจากเดิม  เช่น  การเป็นสนิม การติดไฟ  การเน่าของผัก ผลไม้ เป็นต้น 

การเปลี่ยนแปลงทางเคมี
       เป็นการเปลี่ยนแปลงของสารที่เกี่ยวข้องกับสมบัติทางเคมี ซึ่งมีผลต่อองค์ประกอบภายใน และจะมีสมบัติต่างไปจากเดิม นั่นคือ การเกิดสารใหม่ เช่น กรดไฮโดรคลอริกทำปฏิกิริยากับหินปูน แล้วเกิดสารใหม่ คือ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น

 

สมบัติทางกายภาพของสาร

มาตรฐาน

สมบัติทางกายภาพ ( Physical Properties )

       เป็นสมบัติเฉพาะตัวของสารแต่ละชนิด  ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่ายจากภายนอก  ได้แก่  สี  กลิ่น  รส  การละลาย  ความแข็ง  ลักษณะผลึก  สถานะ   จุดเดือด  จุดหลอมเหลว  ความหนาแน่น  การนำความร้อน  การนำไฟฟ้า  เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ
       เป็นการเปลี่ยนแปลงของสารที่เกี่ยวกับสมบัติกายภาพ โดยไม่มีผลต่อองค์ประกอบภายในและไม่เกิดสารใหม่  เช่น  การเปลี่ยนสถานะ  การละลายน้ำ  การนำไฟฟ้า  การนำความร้อน  เป็นต้น 

สถานะของสาร

มาตรฐาน

สถานะ หมายถึง ความเป็นอยู่ของสารในขณะที่สามารถสัมผัสได้

การจำแนกสารโดยใช้การจัดเรียงตัวของอนุภาคที่เป็นองค์ประกอบเป็นเกณฑ์  มี 3 สถานะ ดังนี้

       1. ของแข็ง (solid ; s) หมายถึง  สารที่มีขนาดและรูปร่างแน่นอน  เนื่องจากอนุภาคจะเรียงตัวและอยู่ชิดกันมาก  ยึดเหนี่ยวกันอย่างหนาแน่น ทำให้อนุภาคเคลื่อนไหวได้น้อยมาก   เปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ยาก ปริมาตรคงที่ เช่น เหล็ก  ไม้ เงินเหรียญ  ทองคำ ถ่านไม้  เกลือ น้ำตาล  ก้อนหิน  เมล็ดพืช  ถ่านไฟฉาย  ยางรถยนต์  เป็นต้น       
      2. ของเหลว (liquid ; l) หมายถึง สารที่มีขนาดและรูปร่างไม่แน่นอน เนื่องจากอนุภาคจะอยู่ห่างกันและไม่เป็นระเบียบ   ยึดเหนี่ยวกันอย่างหลวม ๆ เปลี่ยนแปลงรูปร่างตามภาชนะที่บรรจุ  สามารถไหลได้ ปริมาตรคงที่  เช่น  น้ำ  นมสด  น้ำปลา  น้ำมันพืช  น้ำอัดลม  เครื่องดื่มชูกำลัง  เป็นต้น

      3. แก๊ส (gas ; g) หมายถึง สารที่มีขนาดและรูปร่างไม่แน่นอน เนื่องจากอนุภาคอยู่ห่างกันมาก ฟุ้งกระจาย เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระทุกทิศทางและไม่เป็นระเบียบ    ยึดเหนี่ยวกันน้อยมากและ  เปลี่ยนแปลงรูปร่างตามภาชนะ ไม่สามารถรักษารูปร่างและปริมาตรให้คงที่ได้ เช่น  อากาศที่บรรจุในลูกบอล   อากาศที่บรรจุในยางรถยนต์  ไฮโดรเจน ออกซิเจน เป็นต้น

สสารและสาร

มาตรฐาน

       สสาร (Matter)หมายถึง สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวของเรา ซึ่งเราสามารถสัมผัสได้ด้วยประสาททั้ง 5 มีมวล มีรูปร่าง มีปริมาตร ต้องการที่อยู่และมีการเปลี่ยนแปลง มีทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต 

       สาร (Substance) หมายถึง “เนื้อของสสารที่นำมาศึกษาหรือสิ่งที่นำมาศึกษา”

สสารบางชนิดอาจประกอบด้วยสารเพียง 1 ชนิด หรือมากกว่า 1 ชนิดก็ได้

เพราะฉะนั้นเราจึงสามารถใช้คำว่าสารแทนสสารได้

เรียนรู้เรื่องสารรอบตัว

มาตรฐาน

เรื่อง สารรอบตัว มีแบบฝึกรายวิชา ว21101 วิทยาศาสตร์ 1 ทั้งหมด 6 ชุด

ชุดที่ 1 สารและสมบัติของสาร
ชุดที่ 2 ของแข็ง  ของเหลว  แก๊ส
ชุดที่ 3 สารเนื้อเดียวและสารเนื้อผสม
ชุดที่ 4 สารละลาย  คอลลอยด์  สารแขวนลอย
ชุดที่ 5 ความเข้มข้นของสารละลาย
ชุดที่ 6 สารละลาย กรด – เบส